วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

จรรยาบรรณวิชาชีพ


เอกพันธ์  ปัดถาวะโร   8 สิงหาคม 2555
จรรยาบรรณวิชาชีพ

ความหมายความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพ
ที่มาของจรรยาบรรณวิชาชีพ
ปวีณ ณ นคร  ได้สรุปที่มาของจรรยาบรรณไว้ว่า  ความประพฤติที่ปราศจากการควบคุม
จะไม่ก่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียนร้อย  ความดีงาม  ความสงบสุขและความเจริญในตัวคน  ดังนั้น
ในกิจการและในสังคมจึงต้องมีการควบคุมความประพฤติ  โดยกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ในภาษาวิชาการเรียกว่า “ปทัสถาน” หรือบรรทัดฐาน หรือศัพท์ทางปรัชญาเรียกว่า  จริยธรรม  
ซึ่งในภาคปฏิบัติมีหลายรูปแบบ
1.         รูปแบบทางศาสนา ถ้าเป็นคำสั่งสอนหรือคติธรรมเพื่อยึดถือปฏิบัติ เรียกว่าศีลธรรม ถ้าเป็นลักษณะเชิงพฤติกรรมซึ่งมีอยู่ในตัวคนแสดงออกมาจากตัวคน เรียกว่า  คุณธรรม
2.         รูปแบบในวงการวิชาชีพ ถ้าเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นปทัสถานสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ ยึดถือปฏิบัติเรียกว่า “จรรยาบรรณ” ถ้าเป็นลักษณะเชิงพฤติกรรมที่มีอยู่ในผู้ประกอบวิชาชีพหรือเป็นการแสดงออกมาจากตัวคนเรียกว่า “จรรยา”
3.         รูปแบบในวงงานหรือในหมู่คน ถ้าเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นปทัสถานสำหรับคนในวงงานหรือหมู่เหล่านั้นยึดถือปฏิบัติเรียกว่า วินัย และที่เป็นลักษณะเชิงพฤติกรรมที่แสดงออกมาของคนในวงงานหรือในหมู่เหล่านั้น ก็เรียกว่าวินัยเช่นกัน
สรุป  ที่มาของจรรยาบรรณ  ก็คือ รูปแบบหนึ่งของจริยธรรมในวงการวิชาชีพเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ให้ผุ้ประกอบวิชาชีพยึดถือปฏิบัติ  มีปกาศิตบังคับในระดับ “พึง”  คือพึงทำอย่างนั้น พึงทำอย่างนี้ ไม่ใช้เป็นการบังคับโดยเด็ดขาด  แต่ผลสัมฤทธิ์หรือเป้าหมายของจรรยาบรรณและศักดิ์ศรีของผู้ประกอบวิชาชีพโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อคนและเพื่องาน  ดังนั้นในแต่ละวิชาชีพจึงได้กำหนดจรรยาบรรณมากำหนดบทบาทหน้าที่ และพฤติกรรมของสมาชิกในวงกรวิชาชีพ

ความหมายของจรรยาบรรณวิชาชีพ
เมื่อกล่าวถึงจรรยาบรรณ มีคำศัพท์อยู่ 3 คำที่ได้มีการนำไปใช้และมีความหมายคล้ายคลึงกันได้แก่ คำว่าจริยธรรม จริยศาสตร์ และจรรยาบรรณ  จริยธรรมเมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มวิชาชีพเรียกว่า
 “ จรรยาบรรณ” ส่วนคำว่าจริยศาสตร์(ethics) หมายถึง ความรู้ที่กล่าวถึงแนวทางการประพฤติที่ถูกต้อง
ดีงาม จริยธรรม(morals) หมายถึงหลักความประพฤติที่ดีงามเพื่อประโยชน์แห่งตนและสังคม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ได้ให้ความหมายของคำว่า จรรยาบรรณไว้ดังนี้  คือ  จรรยาบรรณ  หมายถึง ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

สรุป  ความหมายของจรรยาบรรณวิชาชีพ หมายถึง ประมวลความประพฤติ  ข้อบังคับ มารยาท ที่ผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละอย่างกำหนดขึ้น  เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง ฐานะของสมาชิก ความดีงามรวมทั้งก่อให้เกิดความสงบสุขและความเจริญในตัวคน วิชาชีพ และสังคม

ความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพ
               วริยา ชินวรรณโน  ได้สรุปว่าความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพไว้ว่า  ผู้ที่ประกอบวิชาชีพเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมีความรู้ความชำนาญสูงเกินกว่าคนธรรมดาสามัญ  เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีโอกาสที่จะใช้วิชาความรู้ของตนเพื่อหาประโยชน์โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่รู้เท่าทัน เช่น แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยแบบเลี้ยงไข้ ตำรวจอาจใช้ตำแหน่งหน้าที่กลั่นแกล้งประชาชนเพื่อแลกกับผลประโยชน์ หรือสินบน ครูก็อาจเบียดเบียนหาผลประโยชน์จากศิษย์ ซึ่งตัวอย่างมีให้เห็นในปัจจุบัน ในที่สุดสังคมก็เรียกร้อง จริยธรรมจากผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งได้มีการกำหนดขึ้นจากองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพนั้นๆ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่   3 ประการได้แก่
1.         เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพยึดถือปฏิบัติอย่างถูกต้อง
2.         เพื่อให้วิชาชีพคงฐานะ ได้รับการยอมรับและยกย่องจากสังคม
3.         เพื่อผดุงเกียรติยศและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ
               จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่วิชาชีพต่างๆ จะต้องมีจรรยาบรรณของตนเอง  จรรยาบรรณเป็นเครื่องมืออันสําคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีหลักการและแนวทางปฏิบัติตามที่ถูกต้องเหมาะสมอันจะนํามาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน รวมทั้งความเลื่อมใสศรัทธาและความเชื่อมั่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ที่ได้เน้นความสำคัญของจรรยาบรรณ  ความว่า “ การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมี จรรยาบรรณ ของตน จรรยาบรรณนั้นจะมีบัญญัติเป็น ลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงาม ที่คนในอาชีพนั้นประพฤติปฏิบัติ  หากผู้ใดล่วงละเมิด ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่บุคคล หมู่คณะและส่วนรวมได้ เหตุนี้ผู้ปฏิบัติงานในทุกสาขาอาชีพ นอกจากจะมีความรู้ในสาขาของตน ทั้งข้อที่ควรปฏิบัติ และไม่พึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย จึงจะสามารถประพฤติปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จได้รับความเชื่อถือยกย่องในเกียรติ ในศักดิ์ศรี และความสามารถด้วยประการทั้งปวง”



หลักการสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพ
1. ความรักความศรัทธาในอาชีพ
อาชีพที่ผู้ประกอบวิชาชีพถือปฏิบัตินั้นย่อมเป็นอาชีพที่สุจริต  ในการประกอบอาชีพก็ย่อมได้รับผลตอบแทนจากวิชาชีพนั้นๆ  ดังนั้นความรักความศรัทธาเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพพึงมี  เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและกำหนดกรอบของการกระทำอันจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าทางหน้าที่การงานและต่อสถาบัน 
2. ความซื่อสัตย์สุจริต
               การดำเนินกิจกรรมต่างๆ นั้นโดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาจำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต  ทั้งในด้านการทำงานในหน้าที่  เพื่อนร่วมงาน  รวมถึงหัวหน้างาน  เพื่อจะทำให้การทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งระหว่างการทำงานรวมไปถึงภายหลังจากการทำงานเสร็จสิ้นไปแล้วก็ตาม  
3. การให้ความเคารพต่อกฎระเบียบข้อบังคับหรือจรรยาบรรณในอาชีพ
               อาชีพแต่ละอาชีพนั้นย่อมมีกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติ  จรรยาบรรณวิชาชีพเป็นตัวกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีบุคลิกลักษณะตามแบบแผนของอาชีพโดยต้องอาศัยผู้ประกอบวิชาชีพให้ความเคารพและปฏิบัติตามจึงจะบังเกิดผล
4. ยกย่องให้เกียรติผู้ร่วมวิชาชีพ
               วิชาชีพแต่ละแขนงย่อมมีเกียรติ  การยกย่องและให้เกียรติผู้ร่วมวิชาชีพมีความสำคัญอย่างยิ่ง  การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ  สร้างมิตรภาพทั้งการทำงานและเรื่องการดำเนินกิจกรรมต่างๆทางสังคม  เพื่อให้การประกอบอาชีพดำเนินไปอย่างไม่เกิดข้อขัดแย้งและประสบผลสำเร็จ
5. การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงในวิชาชีพ
               เมื่อมีวิชาชีพเกิดขึ้นการที่จะทำให้องค์กรนั้นมีความเข้มแข็ง  และเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในสังคม  จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อผนึกกำลังสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ออกมาสู่สาธารณะชน  ทำให้เกิดการก่อตัวขององค์กรเพื่อเป็นรากฐานความมั่นคงทางวิชาชีพต่อไป




การปฏิบัติตนให้อยู่ในจรรยาบรรณวิชาชีพ
               การที่บุคคลประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องมีพร้อมทั้งประสบการณ์ความสามารถในเรื่องวิชาการแล้ว  ก็ยังต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพ  ซึ่งจรรยาบรรณเป็นเครื่องมืออันสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบวิชาชีพ
มีหลักการและแนวทางปฏิบัติตามที่ถูกต้องเหมาะสมอันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งความเลื่อมใสศรัทธาและความเชื่อมั่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
               ดังนั้น  การปฏิบัติตนให้อยู่ในจรรยาบรรณวิชาชีพจึงเปรียบเสมือนตัวชี้วัดมาตฐานการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพ  โดยมีหลักปฏิบัติดังนี้
               ความซื่อสัตย์
               ปฏิบัติงานอย่างมีเกียรติและซื่อสัตย์ตลอดเวลาที่ได้ร่วมงานทั้งกับผู้รับบริการ  และเพื่อนร่วมวิชาชีพด้วยกัน  ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่บ่งบอกถึงความจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง 
               ความเป็นกลาง
               ดำเนินกิจกรรมอย่างยุติธรรมและไม่ลำเอียง  ซึ่งจะต้องปราศจากอคติหรือพิจารณามาเป็นการล่วงหน้า  ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในรูปแบบการแสดงออกต่อผู้รับบริการวิชาชีพและเพื่อนร่วมวิชาชีพ
               ความเป็นอิสระ
การปฏิบัติงานจะต้องมีความเป็นอิสระในการที่ให้บริการทางด้านต่างๆหรือบริการสาธารณะซึ่งการดำเนนการนั้นเป็นไปอย่างอิสระ แต่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย  เป็นไปตามระเบียบแบบแผนแล้วข้อตกลงที่ตั้งไว้
การรักษาความลับ
ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องให้ความนับถือธรรมชาติของความลับของข้อมูลของผู้รับบริการในการให้บริการทางวิชาชีพและข้อมูลควรได้รับการปกปิดแก่บุคคลที่ 3 โดยปราศจากการขออนุญาตเฉพาะเรื่อง หรือเป็นหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย
มาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ
ผู้ประกอบวิชาชีพถูกคาดหวังว่าจะต้องมีมาตรฐานทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพตามคุณสมบัติวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพ  ซึ่งเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน  ประสบการณ์ทางวิชาการและวิชาชีพจะถูกนำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่โดยผู้รับบริการวิชาชีพพึงจะได้รับ
อย่างเท่าเทียมกัน
ความสามารถและความระมัดระวัง
ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องแสดงออกในการให้บริการทางวิชาชีพด้วยความระมัดระวัง ด้วยความสามารถ และด้วยความขยันหมั่นเพียร เนื่องจาก มีหน้าที่จะต้องรักษาความรู้และความชำนาญอย่างต่อเนื่อง

พฤติกรรมทางจริยธรรม
ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติตนอย่างมีจริยธรรมตลอดเวลาและต้องรักษาชื่อเสียงที่ดีในวิชาชีพ  การให้คำปรึกษาแก่ผู้รับบริการวิชาชีพอย่างเต็มความสามารถ


กล่าวโดยสรุป  จรรยาบรรณในวิชาชีพ เป็นประมวลมาตรฐานความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติปฏิบัติ เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติอย่างถูกต้องเพื่อผดุงเกียรติและสถานะ
ของวิชาชีพนั้นก็ได้ผู้กระทำผิดจรรยาบรรณ จะต้องได้รับโทษโดยว่ากล่าว ตักเตือน ถูกพักงาน หรือถูกยกเลิกใบประกอบวิชาชีพได้  ซึ่งจรรยาบรรณในวิชาจะเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะจำแนกอาชีพว่าเป็นวิชาชีพหรือไม่ อาชีพที่เป็น วิชาชีพ”  นั้นกำหนดให้มีองค์กรรองรับ และมีการกำหนดมาตรฐานของความประพฤติของผู้อยู่ในวงการวิชาชีพซึ่งเรียกว่า จรรยาบรรณ”  ส่วนลักษณะ วิชาชีพ ที่ สำคัญคือ เป็นอาชีพที่มีศาสตร์ชั้นสูงรองรับ   นอกจากนี้จะต้องมีองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพ ตลอดจนมี  จรรยาบรรณในวิชาชีพ เพื่อ ให้สมาชิกในวิชาชีพดำเนินชีวิตตามหลักมาตรฐานดังกล่าวหลักที่กำหนดใน จรรยาบรรณวิชาชีพทั่วไป คือ แนวความประพฤติปฏิบัติที่มีต่อวิชาชีพต่อผู้เรียน ต่อตนเอง และต่อสังคม




บรรณานุกรม
กุหลาบ รัตนสัจธรรม, พิสมัย เสรีขจรกิจเจริญ และวิไล สถิตย์เสถียร. “รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษา
วิเคราะห์ สังเคราะห์ ภาพรวมจรรยาบรรณวิชาชีพในประเทศไทย”. รายงานวิจัย.
ทบวงมหาวิทยาลัย,2546.
ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (ม...). “จริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพ”. วันที่ค้นหา 15 มิถุนายน 2555, เข้าถึงได้จาก
http://www.rta.mi.th/15500u/songsurmkoonnatum/I%20กสอ15%20T21C7.pdf.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น