วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แนวคิดจรรยาบรรณวิชาชีพชั้นสูง


เอกพันธ์  ปัดถาวะโร  8  สิงหาคม  2555

แนวคิดจรรยาบรรณวิชาชีพชั้นสูง

จรรยาบรรณวิชาชีพ  หมายถึง  ประมวลมาตรฐานความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพต้องประพฤติปฏิบัติ
เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบอาชีพปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง  โดยที่ข้อบัญญัตินั้นอาจเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  หรือบอกกล่าวด้วยวาจาในสังคมวิชาชีพนั้นก็ได้  ผู้กระทำผิดจรรยาบรรณจะต้องได้รับโทษโดยการว่ากล่าวตักเตือน 
ถูกพักงาน  หรือถูกยกเลิกใบประกอบวิชาชีพได้

จรรยาบรรณวิชาชีพครู
               จรรยาบรรณวิชาชีพครู  คือ  กฎแห่งความประพฤติสำหรับสมาชิกวิชาชีพครู  ซึ่งองค์กรวิชาชีพครู
เป็นผู้กำหนด  และสมาชิกในวิชาชีพทุกคนต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากมีการละเมิดจะมีการลงโทษ
ความสำคัญ
               จรรยาบรรณวิชาชีพครู มีความสำคัญต่อวิชาชีพครูเช่นเดียวกับที่จรรยาบรรณวิชาชีพมีความสำคัญ
ต่อวิชาชีพอื่น ๆ ซึ่งสรุปได้  3  ประการ  คือ
1.  ปกป้องการปฏิบัติงานของสมาชิกในวิชาชีพ
2.  รักษามาตรฐานวิชาชีพ
3.  พัฒนาวิชาชีพ
ลักษณะของจรรยาบรรณวิชาชีพครู
               จรรยาบรรณวิชาชีพครู จะต้องมีลักษณะ 4  ประการ  คือ
1.  เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อผู้เรียน (Commitment to the student)
2.  เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อสังคม (Commitment to the society)
3.  เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อวิชาชีพ (Commitment to the profession)
4.  เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อสถานปฏิบัติงาน (Commitment to the employment practice)
แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539
1.  ครูต้องรักและเมตตาศิษย์  โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ  ส่งเสริมให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์
โดยเสมอหน้า
2.  ครูต้องอบรม  สั่งสอน  ฝึกฝน  สร้างเสริมความรู้  ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์  อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ
3.  ครูต้องประพฤติ  ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย  วาจา  และจิตใจ
4.  ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา  จิตใจ  อารมณ์  และสังคมของศิษย์
5.  ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ  และไม่ใช้ศิษย์
กระทำการใดๆ  อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
6.  ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ  ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์  ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิชาการ
เศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองอยู่เสมอ
7.  ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู  และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู
8.  ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครู และชุมชนในทางสร้างสรรค์
9.  ครูพึงประพฤติ  ปฏิบัติตน  เป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย

จรรยาบรรณวิชาชีพการพยาบาล
การพยาบาลเป็นการปฏิบัติโดยตรงต่อบุคคล  ครอบครัว  ชุมชนและสังคม  นับได้ว่าเป็นบริการในระดับสถาบันของสังคม  ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง  เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้  มีความรู้ความชำนาญในการปฏิบัติ  มีจริยธรรม  และจรรยาบรรณวิชาชีพ  เป็นแนวทางในการประพฤติและปฏิบัติ
ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของสังคมโดยส่วนรวม
         จรรยาบรรณวิชาชีพสำหรับพยาบาลเป็นการประมวลหลักความประพฤติให้บุคคลในวิชาชีพยึดถือปฏิบัติ
สมาคมพยาบาลแห่งสหรัฐอเมริกา (The America Nurses Associations A.N.A.) ได้กำหนดสาระสำคัญ
ของจรรยาบรรณวิชาชีพพยาบาลไว้ดังนี้
1.         พยาบาลพึงให้บริการพยาบาลด้วยความเคารพในศักดิ์ศรี  และความแตกต่างระหว่างบุคคล  โดยไม่จำกัด
ในเรื่องสถานภาพทางสังคม  เศรษฐกิจ  คุณสมบัติเฉพาะกิจหรือสภาพปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้ป่วย
         2. พยาบาลพึงเคารพสิทธิส่วนตัวของผู้ป่วยโดยรักษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยไว้เป็นความลับ
         3. พยาบาลพึงให้การปกป้องคุ้มครองแก่ผู้ป่วย  สังคม  ในกรณีที่มีการให้บริการสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยถูกกระทำการที่อาจเกิดจากความไม่รู้  ขาดศีลธรรม  จริยธรรม  หรือการกระทำที่ผิดกฎหมายจากบุคคลหนึ่งบุคคลใด
         4. พยาบาลมีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจและให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วยแต่ละราย
         5. พยาบาลพึงดำรงไว้ซึ่งสมรรถนะในการปฏิบัติการพยาบาล
         6. พยาบาลพึงตัดสินใจด้วยความรอบคอบถี่ถ้วน  ใช้ข้อมูลสมรรถนะและคุณสมบัติอื่นๆ  เป็นหลักในการขอ
คำปรึกษาหารือยอมรับในหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึง การมอบหมายกิจกรรมการปฏิบัติการพยาบาลให้ผู้อื่นปฏิบัติ
         7. พยาบาลพึงมีส่วนร่วมและสนับสนุนในกิจกรรมการพัฒนาความรู้เชิงวิชาชีพ
         8. พยาบาลพึงมีส่วนร่วมและสนับสนุนในการพัฒนาวิชาชีพและส่งเสริมมาตรฐานการปฏิบัติการพยาบาล
         9. พยาบาลพึงมีส่วนร่วมในการที่จะกำหนดและดำรงไว้ซึ่งสถานะภาพของการทำงานที่จะนำไปสู่การปฏิบัติการพยาบาลที่มีคุณภาพสูง
         10. พยาบาลพึงมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองสังคมจากการเสนอข้อมูลที่ผิด  และดำรงไว้ซึ่งความสามัคคี
ในวิชาชีพ
         11. พยาบาลพึงร่วมมือและเป็นเครือข่ายกับสมาชิกด้านสุขภาพอนามัยและบุคคลอื่นๆ ในสังคมเพื่อส่งเสริมชุมชนและสนองตอบความต้องการด้านสุขภาพอนามัยของสังคม
จรรยาบรรณวิชาชีพนักกฎหมาย
               นักกฎหมาย  หมายถึง  ผู้ที่ใช้ความรู้ทางกฎหมายเป็นวิชาการประกอบการงานที่ตนปฏิบัติในสาขาต่าง ๆ
เป็นคำรวมหมายความถึงผู้ประกอบการงานทางกฎหมายทุกประเภท ไม่เฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับศาล
นักกฎหมายที่ดีพร้อมจะทำงานให้กับผู้ว่าจ้างอย่างเต็มที่  ถูกต้อง โปร่งใส่ตรวจสอบได้  นักกฎหมายหรือทนายความที่จะรับจ้างทำงานเหล่านี้ จะให้ความสำคัญ เรื่องสัญญาว่าจ้างเป็นสิ่งที่ต้องมาเป็นอันดับแรกก่อนเริ่มทำงาน แต่ปัจจุบันนี้ จะมีพวกนักกฎหมายบางประเภทที่ชอบเลี่ยงกฎหมาย  โดยเฉพาะพวกทนายเจ้าหนี้ที่มักจะไม่ทำเป็นหนังสือบอกกล่าว  ตามกฎหมายแต่จะส่งหนังสือไปให้อีกฝ่ายโดยเป็นการแจ้งให้ทราบเท่านั้น
จรรยาบรรณวิชาชีพนักกฎหมาย  ดังต่อไปนี้
1.         พึงถือว่างานกฎหมายเป็นอาชีพ  มิใช่ธุรกิจ
2.         พึงถือว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของความยุติธรรม  มิใช่มาตรการความยุติธรรม
3.         พึงถือว่านักกฎหมายทุกคนเป็นที่พึ่งของประชาชน
4.         พึงถือว่าความยุติธรรมอยู่เหนืออามิสสินจ้างใดๆ
5.         พึงถือว่าความยุติธรรมเป็นกลางสำหรับทุกชาติ  ศาสนา  ทุกฐานะ
6.   พึงถือว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิในเรื่องความยุติธรรมเท่าเทียมกัน
7.   พึงขวนขวายหาความรู้ให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ
8.   พึงถือว่าเวลาเป็นเรื่องสำคัญ  จึงไม่พึงรีบร้อน
9.   พึงงดเว้นอบายมุขทั้งหลาย
10. พึงรักษาเกียรติยิ่งกว่าทรัพย์สินใดๆ
11. พึงถือว่าบุคคลมีค่าเหนือกว่าวัตถุทุกอย่าง

จรรยาบรรณวิชาชีพของนักสื่อสารมวลชน
จรรยาบรรณของสื่อมวลชน  หมายถึง  หลักคุณธรรมของผู้ประกอบอาชีพนักสื่อสารมวลชน  มารวมตัวกันเป็นสมาคมวิชาชีพ  สร้างขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร  เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ประกอบอาชีพนักสื่อสารมวลชน
ให้มีความรับผิดชอบ
ความสำคัญของจรรยาบรรณสื่อสารมวลชน
1. เป็นแนวทางในการควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม
2. ทำให้นักสื่อสารมวลชนและวิชาชีพสื่อสารมวลชนได้รับการยินยอมยกย่อง  ให้เกียรติและศรัทธาจากประชาชน
3. ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพการสื่อสารมวลชนเกิดความภูมิใจในอาชีพตน
4. เป็นเกราะป้องกันเสรีภาพของสื่อมวลชน
5. เป็นหลักให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพนักสื่อสารมวลชน
6. ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม
7. เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการพัฒนา
จรรยาบรรณของนักสื่อมวลชน
1. พึงตระหนักในความรับผิดชอบต่อทุกเรื่องที่ออกทางสื่อมวลชน
2. พึงเสนอข่าวตามที่มีหลักฐาน  ถ้าหากภายหลังพบว่าผิดพลาด  พึงแก้ข่าวด้วยความรับผิดชอบ
3. พึงเสนอความร้รูอบตัวที่มีคุณประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก
4. พึงเสนอความบันเทิงที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย
5. พึงสนองเป้าหมายของสังคมไทย  โดยสนับสนุนการธำรงชาติศาสนา  สถาบันกษัตริย์และ
ระบอบประชาธิปไตย
6. พึงสจุริตต่อหน้าที่โดยไม่ยอมรับอามิสสินจ้างให้บิดเบือนเจตนารมณ์ของตนเอง
7 .พึงงดเว้นอบายมุขต่างๆ อันจะนำไปสู่การเสียอิสรภาพในการประกอบอาชีพด้านนี้
8. พึงงดเว้นการใช้สื่อมวลชนเพื่อการกลั่นแกล้งหรือแก้แค้น
9. ไม่พึงให้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือของผู้ใดผู้หนึ่งที่มีเป้าหมายมิชอบ
10. พึงส่งเสริมให้อำนาจทุกฝ่ายตามรัฐธรรมนูญ  มีเสถียรภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมาย
11. พึงถือว่าเกียรติและบุคลิกภาพของตนอยู่เหนือสิ่งใดทั้งหมด
12. พึงกล้าชี้อันตรายของสังคมด้วยความบริสุทธิ์ใจ

จรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรม
วิชาชีพเภสัชกรรม หมายถึง วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์
การเลือกสรรยา  การวิเคราะห์ยา  การควบคุมและประกันคุณภาพยา การปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ 
การดำเนินการปรุงยาและการขายยา ตามกฎหมายว่าด้วยยา รวมทั้งการให้บริบาลทางเภสัชกรรม และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ
จรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรม  ดังนี้
1.  เภสัชกร  พึงยึดถือสุขภาพ  และความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วย
2.  เภสัชกรต้องรักษาไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ
3.  เภสัชกรพึงเคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง
4.  เภสัชกรต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
5.  เภสัชกรพึงสร้างความไว้วางใจในประสิทธิภาพของการบริการของตน
6.  เภสัชกรต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วย
7.  เภสัชกรพึงศึกษาติดตามความก้าวหน้าทางวิชาเภสัชศาสตร์
8.      เภสัชกรต้องไม่ประกอบวิชาชีพในสถานที่
9.      เภสัชกรต้องไม่โฆษณาใช้จ้างวานหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพ
10. เภสัชกรผู้ให้บริการประชาชน ต้องไม่ปฏิบัติในสถานที่สาธารณะ
11. เภสัชกรพึงยกย่องให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน
12. เภสัชกรต้องไม่จำหน่าย แจก หรือแนะนำยา ซึ่งขาดคุณภาพ
13. เภสัชกรต้องให้คำแนะนำในการใช้ยาอย่างถูกต้อง
14. เภสัชกรต้องไม่ออกใบรับรองอันเป็นเท็จโดยตั้งใจ
15. เภสัชกรต้องไม่ใช้หรือสนับสนุนให้มีการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

กล่าวโดยสรุป  จรรยาบรรณวิชาชีพชั้นสูงนั้นโดยปกติแล้ว  จรรยาบรรณไม่ใช่ข้อบังคับและไม่ใช่กฎหมาย
 แต่จรรยาบรรณเป็นแนวทางหรือกรอบแห่งการดำเนินชีวิตที่ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ พึงถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทุกสาขามีจุดประสงค์ร่วมกันคือ  มุ่งความเจริญ  ความมั่นคงของผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ จรรยาบรรณกับคุณธรรมเป็นของคู่กัน  ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีจรรยาบรรณก็คือผู้ประกอบวิชาชีพที่มีคุณธรรมนั่นเอง  ดังนั้นข้อกำหนดต่างๆ ที่มีในจรรยาบรรณวิชาชีพชั้นสูงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเป็นแนวทางในการควบคุมให้สมาชิกทุกคนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน  โดยมีความแตกต่างกันในแต่ละสาขาอาชีพสอดคล้องกับวิชาชีพนั่นๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติ


บรรณานุกรม

เกศินี(2553). จรรยาบรรณของสื่อสารมวลชน. วันที่สืบค้นข้อมูล  16  มิถุนายน  2555, เข้าถึงข้อมูลได้จาก 
http://kesineelak.blogspot.com/2010/06/blog-post_11.html
คลังปัญญาไทย(2555). พยาบาล. วันที่สืบค้นข้อมูล 16 มิถุนายน 2555, เข้าถึงเข้ามูลได้จาก
http://www.panyathai.or.th /wiki/index.php/พยาบาลพฤทธิ์
พูนฤดี  สุวรรณพันธ(2555). จรรยาบรรณของอาชีพต่างๆ. วันที่สืบค้นข้อมูล  16  มิถุนายน  2555, เข้าถึงข้อมูล
ได้จาก http://www.basju.net/pum/ch4_moto_mot.pdf
พงศ์สภา  เฉลิมกลิ่น(2555). จรรยาบรรณในวิชาชีพ.  วันที่สืบค้นข้อมูล  16  มิถุนายน  2555, เข้าถึงข้อมูลได้จาก 
               http://home.npru.ac.th/pongsada/sheet/sheet_2/Chapter%2010.ppt.
ศิริบรรณพิทักษ์(2555) .จรรยาบรรณวิชาชีพครู. วันที่สืบค้นข้อมูล  16  มิถุนายน 2555, เข้าถึงเข้ามูลได้จาก  

จรรยาบรรณวิชาชีพ


เอกพันธ์  ปัดถาวะโร   8 สิงหาคม 2555
จรรยาบรรณวิชาชีพ

ความหมายความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพ
ที่มาของจรรยาบรรณวิชาชีพ
ปวีณ ณ นคร  ได้สรุปที่มาของจรรยาบรรณไว้ว่า  ความประพฤติที่ปราศจากการควบคุม
จะไม่ก่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียนร้อย  ความดีงาม  ความสงบสุขและความเจริญในตัวคน  ดังนั้น
ในกิจการและในสังคมจึงต้องมีการควบคุมความประพฤติ  โดยกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ในภาษาวิชาการเรียกว่า “ปทัสถาน” หรือบรรทัดฐาน หรือศัพท์ทางปรัชญาเรียกว่า  จริยธรรม  
ซึ่งในภาคปฏิบัติมีหลายรูปแบบ
1.         รูปแบบทางศาสนา ถ้าเป็นคำสั่งสอนหรือคติธรรมเพื่อยึดถือปฏิบัติ เรียกว่าศีลธรรม ถ้าเป็นลักษณะเชิงพฤติกรรมซึ่งมีอยู่ในตัวคนแสดงออกมาจากตัวคน เรียกว่า  คุณธรรม
2.         รูปแบบในวงการวิชาชีพ ถ้าเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นปทัสถานสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ ยึดถือปฏิบัติเรียกว่า “จรรยาบรรณ” ถ้าเป็นลักษณะเชิงพฤติกรรมที่มีอยู่ในผู้ประกอบวิชาชีพหรือเป็นการแสดงออกมาจากตัวคนเรียกว่า “จรรยา”
3.         รูปแบบในวงงานหรือในหมู่คน ถ้าเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นปทัสถานสำหรับคนในวงงานหรือหมู่เหล่านั้นยึดถือปฏิบัติเรียกว่า วินัย และที่เป็นลักษณะเชิงพฤติกรรมที่แสดงออกมาของคนในวงงานหรือในหมู่เหล่านั้น ก็เรียกว่าวินัยเช่นกัน
สรุป  ที่มาของจรรยาบรรณ  ก็คือ รูปแบบหนึ่งของจริยธรรมในวงการวิชาชีพเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ให้ผุ้ประกอบวิชาชีพยึดถือปฏิบัติ  มีปกาศิตบังคับในระดับ “พึง”  คือพึงทำอย่างนั้น พึงทำอย่างนี้ ไม่ใช้เป็นการบังคับโดยเด็ดขาด  แต่ผลสัมฤทธิ์หรือเป้าหมายของจรรยาบรรณและศักดิ์ศรีของผู้ประกอบวิชาชีพโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อคนและเพื่องาน  ดังนั้นในแต่ละวิชาชีพจึงได้กำหนดจรรยาบรรณมากำหนดบทบาทหน้าที่ และพฤติกรรมของสมาชิกในวงกรวิชาชีพ

ความหมายของจรรยาบรรณวิชาชีพ
เมื่อกล่าวถึงจรรยาบรรณ มีคำศัพท์อยู่ 3 คำที่ได้มีการนำไปใช้และมีความหมายคล้ายคลึงกันได้แก่ คำว่าจริยธรรม จริยศาสตร์ และจรรยาบรรณ  จริยธรรมเมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มวิชาชีพเรียกว่า
 “ จรรยาบรรณ” ส่วนคำว่าจริยศาสตร์(ethics) หมายถึง ความรู้ที่กล่าวถึงแนวทางการประพฤติที่ถูกต้อง
ดีงาม จริยธรรม(morals) หมายถึงหลักความประพฤติที่ดีงามเพื่อประโยชน์แห่งตนและสังคม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ได้ให้ความหมายของคำว่า จรรยาบรรณไว้ดังนี้  คือ  จรรยาบรรณ  หมายถึง ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

สรุป  ความหมายของจรรยาบรรณวิชาชีพ หมายถึง ประมวลความประพฤติ  ข้อบังคับ มารยาท ที่ผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละอย่างกำหนดขึ้น  เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง ฐานะของสมาชิก ความดีงามรวมทั้งก่อให้เกิดความสงบสุขและความเจริญในตัวคน วิชาชีพ และสังคม

ความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพ
               วริยา ชินวรรณโน  ได้สรุปว่าความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพไว้ว่า  ผู้ที่ประกอบวิชาชีพเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมีความรู้ความชำนาญสูงเกินกว่าคนธรรมดาสามัญ  เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีโอกาสที่จะใช้วิชาความรู้ของตนเพื่อหาประโยชน์โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่รู้เท่าทัน เช่น แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยแบบเลี้ยงไข้ ตำรวจอาจใช้ตำแหน่งหน้าที่กลั่นแกล้งประชาชนเพื่อแลกกับผลประโยชน์ หรือสินบน ครูก็อาจเบียดเบียนหาผลประโยชน์จากศิษย์ ซึ่งตัวอย่างมีให้เห็นในปัจจุบัน ในที่สุดสังคมก็เรียกร้อง จริยธรรมจากผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งได้มีการกำหนดขึ้นจากองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพนั้นๆ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่   3 ประการได้แก่
1.         เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพยึดถือปฏิบัติอย่างถูกต้อง
2.         เพื่อให้วิชาชีพคงฐานะ ได้รับการยอมรับและยกย่องจากสังคม
3.         เพื่อผดุงเกียรติยศและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ
               จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่วิชาชีพต่างๆ จะต้องมีจรรยาบรรณของตนเอง  จรรยาบรรณเป็นเครื่องมืออันสําคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีหลักการและแนวทางปฏิบัติตามที่ถูกต้องเหมาะสมอันจะนํามาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน รวมทั้งความเลื่อมใสศรัทธาและความเชื่อมั่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ที่ได้เน้นความสำคัญของจรรยาบรรณ  ความว่า “ การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมี จรรยาบรรณ ของตน จรรยาบรรณนั้นจะมีบัญญัติเป็น ลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงาม ที่คนในอาชีพนั้นประพฤติปฏิบัติ  หากผู้ใดล่วงละเมิด ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่บุคคล หมู่คณะและส่วนรวมได้ เหตุนี้ผู้ปฏิบัติงานในทุกสาขาอาชีพ นอกจากจะมีความรู้ในสาขาของตน ทั้งข้อที่ควรปฏิบัติ และไม่พึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย จึงจะสามารถประพฤติปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จได้รับความเชื่อถือยกย่องในเกียรติ ในศักดิ์ศรี และความสามารถด้วยประการทั้งปวง”



หลักการสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพ
1. ความรักความศรัทธาในอาชีพ
อาชีพที่ผู้ประกอบวิชาชีพถือปฏิบัตินั้นย่อมเป็นอาชีพที่สุจริต  ในการประกอบอาชีพก็ย่อมได้รับผลตอบแทนจากวิชาชีพนั้นๆ  ดังนั้นความรักความศรัทธาเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพพึงมี  เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและกำหนดกรอบของการกระทำอันจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าทางหน้าที่การงานและต่อสถาบัน 
2. ความซื่อสัตย์สุจริต
               การดำเนินกิจกรรมต่างๆ นั้นโดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาจำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต  ทั้งในด้านการทำงานในหน้าที่  เพื่อนร่วมงาน  รวมถึงหัวหน้างาน  เพื่อจะทำให้การทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งระหว่างการทำงานรวมไปถึงภายหลังจากการทำงานเสร็จสิ้นไปแล้วก็ตาม  
3. การให้ความเคารพต่อกฎระเบียบข้อบังคับหรือจรรยาบรรณในอาชีพ
               อาชีพแต่ละอาชีพนั้นย่อมมีกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติ  จรรยาบรรณวิชาชีพเป็นตัวกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีบุคลิกลักษณะตามแบบแผนของอาชีพโดยต้องอาศัยผู้ประกอบวิชาชีพให้ความเคารพและปฏิบัติตามจึงจะบังเกิดผล
4. ยกย่องให้เกียรติผู้ร่วมวิชาชีพ
               วิชาชีพแต่ละแขนงย่อมมีเกียรติ  การยกย่องและให้เกียรติผู้ร่วมวิชาชีพมีความสำคัญอย่างยิ่ง  การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ  สร้างมิตรภาพทั้งการทำงานและเรื่องการดำเนินกิจกรรมต่างๆทางสังคม  เพื่อให้การประกอบอาชีพดำเนินไปอย่างไม่เกิดข้อขัดแย้งและประสบผลสำเร็จ
5. การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงในวิชาชีพ
               เมื่อมีวิชาชีพเกิดขึ้นการที่จะทำให้องค์กรนั้นมีความเข้มแข็ง  และเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในสังคม  จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อผนึกกำลังสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ออกมาสู่สาธารณะชน  ทำให้เกิดการก่อตัวขององค์กรเพื่อเป็นรากฐานความมั่นคงทางวิชาชีพต่อไป




การปฏิบัติตนให้อยู่ในจรรยาบรรณวิชาชีพ
               การที่บุคคลประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องมีพร้อมทั้งประสบการณ์ความสามารถในเรื่องวิชาการแล้ว  ก็ยังต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพ  ซึ่งจรรยาบรรณเป็นเครื่องมืออันสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบวิชาชีพ
มีหลักการและแนวทางปฏิบัติตามที่ถูกต้องเหมาะสมอันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งความเลื่อมใสศรัทธาและความเชื่อมั่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
               ดังนั้น  การปฏิบัติตนให้อยู่ในจรรยาบรรณวิชาชีพจึงเปรียบเสมือนตัวชี้วัดมาตฐานการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพ  โดยมีหลักปฏิบัติดังนี้
               ความซื่อสัตย์
               ปฏิบัติงานอย่างมีเกียรติและซื่อสัตย์ตลอดเวลาที่ได้ร่วมงานทั้งกับผู้รับบริการ  และเพื่อนร่วมวิชาชีพด้วยกัน  ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่บ่งบอกถึงความจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง 
               ความเป็นกลาง
               ดำเนินกิจกรรมอย่างยุติธรรมและไม่ลำเอียง  ซึ่งจะต้องปราศจากอคติหรือพิจารณามาเป็นการล่วงหน้า  ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในรูปแบบการแสดงออกต่อผู้รับบริการวิชาชีพและเพื่อนร่วมวิชาชีพ
               ความเป็นอิสระ
การปฏิบัติงานจะต้องมีความเป็นอิสระในการที่ให้บริการทางด้านต่างๆหรือบริการสาธารณะซึ่งการดำเนนการนั้นเป็นไปอย่างอิสระ แต่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย  เป็นไปตามระเบียบแบบแผนแล้วข้อตกลงที่ตั้งไว้
การรักษาความลับ
ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องให้ความนับถือธรรมชาติของความลับของข้อมูลของผู้รับบริการในการให้บริการทางวิชาชีพและข้อมูลควรได้รับการปกปิดแก่บุคคลที่ 3 โดยปราศจากการขออนุญาตเฉพาะเรื่อง หรือเป็นหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย
มาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ
ผู้ประกอบวิชาชีพถูกคาดหวังว่าจะต้องมีมาตรฐานทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพตามคุณสมบัติวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพ  ซึ่งเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน  ประสบการณ์ทางวิชาการและวิชาชีพจะถูกนำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่โดยผู้รับบริการวิชาชีพพึงจะได้รับ
อย่างเท่าเทียมกัน
ความสามารถและความระมัดระวัง
ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องแสดงออกในการให้บริการทางวิชาชีพด้วยความระมัดระวัง ด้วยความสามารถ และด้วยความขยันหมั่นเพียร เนื่องจาก มีหน้าที่จะต้องรักษาความรู้และความชำนาญอย่างต่อเนื่อง

พฤติกรรมทางจริยธรรม
ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติตนอย่างมีจริยธรรมตลอดเวลาและต้องรักษาชื่อเสียงที่ดีในวิชาชีพ  การให้คำปรึกษาแก่ผู้รับบริการวิชาชีพอย่างเต็มความสามารถ


กล่าวโดยสรุป  จรรยาบรรณในวิชาชีพ เป็นประมวลมาตรฐานความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติปฏิบัติ เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติอย่างถูกต้องเพื่อผดุงเกียรติและสถานะ
ของวิชาชีพนั้นก็ได้ผู้กระทำผิดจรรยาบรรณ จะต้องได้รับโทษโดยว่ากล่าว ตักเตือน ถูกพักงาน หรือถูกยกเลิกใบประกอบวิชาชีพได้  ซึ่งจรรยาบรรณในวิชาจะเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะจำแนกอาชีพว่าเป็นวิชาชีพหรือไม่ อาชีพที่เป็น วิชาชีพ”  นั้นกำหนดให้มีองค์กรรองรับ และมีการกำหนดมาตรฐานของความประพฤติของผู้อยู่ในวงการวิชาชีพซึ่งเรียกว่า จรรยาบรรณ”  ส่วนลักษณะ วิชาชีพ ที่ สำคัญคือ เป็นอาชีพที่มีศาสตร์ชั้นสูงรองรับ   นอกจากนี้จะต้องมีองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพ ตลอดจนมี  จรรยาบรรณในวิชาชีพ เพื่อ ให้สมาชิกในวิชาชีพดำเนินชีวิตตามหลักมาตรฐานดังกล่าวหลักที่กำหนดใน จรรยาบรรณวิชาชีพทั่วไป คือ แนวความประพฤติปฏิบัติที่มีต่อวิชาชีพต่อผู้เรียน ต่อตนเอง และต่อสังคม




บรรณานุกรม
กุหลาบ รัตนสัจธรรม, พิสมัย เสรีขจรกิจเจริญ และวิไล สถิตย์เสถียร. “รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษา
วิเคราะห์ สังเคราะห์ ภาพรวมจรรยาบรรณวิชาชีพในประเทศไทย”. รายงานวิจัย.
ทบวงมหาวิทยาลัย,2546.
ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (ม...). “จริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพ”. วันที่ค้นหา 15 มิถุนายน 2555, เข้าถึงได้จาก
http://www.rta.mi.th/15500u/songsurmkoonnatum/I%20กสอ15%20T21C7.pdf.

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คุณสมบัติของนักเขียนบทวิทยุโทรทัศน์


เอกพันธ์  ปัดถาวะโร  สาขาเทคโนโลยีการศึกษา

คุณสมบัติของนักเขียนบทวิทยุโทรทัศน์
นักเขียนบทวิทยุโทรทัศน์ควรมีคุณสมบัติโดยทั่วไปดังนี้
1.  ช่างคิด (Inventiveness) เป็นคุณสมบัติสำคัญของนักเขียน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล ความช่างคิดในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการสร้างเรื่องที่สมบูรณ์จากเหตุการณ์เล็ก ๆ เพียงเหตุการณ์เดียว นักเขียนบทละครผู้ซึ่งเล่นกับถ้อยคำสำนวนจะใช้ความพยายามอย่างมากที่จะเรียงร้อยถ้อยคำให้สามารถสร้างจินตนาการตามที่เขาต้องการ
2.  อยากรู้อยากเห็น (A sense of inquiry)  นักเขียนจะต้องศึกษาเรื่องต่างๆ ที่ผู้สื่อข่าวได้รายงานข่าวไว้ แล้วนำมาคิดใคร่ครวญว่า อะไร ทำไม สาเหตุจากไหน อย่างไร ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์เช่นนั้นขึ้น  และเมื่อเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ นักเขียนจะต้องมีความพยายามทุกวิถีทางที่จะทำตัวให้คุ้นเคยกับคนของท้องถิ่นนั้นๆ ว่าเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงอย่างไร
3.  มีวินัย (Discipline)  วิทยุและโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีเส้นตาย นักเขียนควรกำหนดจุดเป้าหมายของตนเองว่าจะเขียนให้ได้อย่างน้อยกี่คำต่อวัน ผู้ที่ยึดอาชีพนี้จะต้องมีวินัยในการเขียนเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถส่งบทได้ตรงเวลา และผลิตบทออกมาอย่างสม่ำเสมอเพื่อการยังชีพ
4.  รู้จักการใช้ภาษา (Knowledge of the language)  นักเขียนบทจะต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างคำต่างๆ ขึ้นมาได้โดยอาศัยแหล่งสารต่างๆ ฟังคำพูดของบุคคลต่างๆ ศึกษาจากการอ่านหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ การเข้านั่งเรียนในห้องเรียน ฟังวิทยุกระจายเสียง ดูวิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ นอกจากนี้ หนังสือจำพวกพจนานุกรม ศัพทานุกรม เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับนักเขียน เพราะสามารถช่วยในการตรวจสอบหรือค้นหาคำได้
การเขียนสำหรับสื่อประเภทวิทยุโทรทัศน์มีกุญแจดอกสำคัญคือ ความง่าย” (simplicity) เพื่อผู้รับจะได้เข้าใจได้ง่ายและเข้าใจได้เร็ว
5.  รู้จักสื่อ (Knowledge of the media)  นักเขียนบทต้องรู้ถึงการทำงานของเครื่องมือของสื่อนั้นๆ โดยการดูเพื่อที่จะเรียนรู้ อ่านจากหนังสือที่อธิบายถึงกระบวนการออกอากาศ หรือเยี่ยมชมและสังเกตการเสนอรายการต่างๆ อบรมระยะสั้นๆ กับมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือดูงาน เป็นต้น
6.  มีความเพียร (Preserverance)  อาชีพนักเขียนต้องมีความมานะอดทน มีความเพียรพยายามที่จะทำให้ได้ และอาจจะต้องเขียนบทจำนวนมากกว่าจะมีคนยอมรับสักเรื่อง

อ้างอิงข้อมูลจาก  :  http://courseware.payap.ac.th/docu/th203/content/tvwri.htm  วันที่ 26/7/2555

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บทบาทและคุณลักษณะของนักเทคโนโลยีการศึกษาที่เหมาะสมกับจรรยาบรรณวิชาชีพทางเทคโนโลยีการศึกษา


นำเสนอบทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษา
จรรยาบรรณ
และการเอาสองอย่างมารวมกัน  ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งนักเทคโนโลยีการศึกษาในปัจจุบันมีแนวโน้ม  ของการเผยแพร่และการรับเทคโลโนยีมีมากมาย  ผู้คนส่วนใหญ่สามารถรับข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีผลย้อนกลับมาอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน  อาทิ  ข่าวตึกถล่ม คณะศึกษาศาสตร์ ม.บูรพา  ข่าวมีการอัพเดตและเผยแพร่อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ทั้งนั้น  ควาสะดวกและรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร  มีทั้งข้อดีและข้อเสียหากว่าเราให้ข้อมูลผิดๆ ออกไปโดยที่ไม่ได้คัดกรองไต่ตรองอย่างรอบคอบ  ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปนั้นทั้งที่ไม่เป็นประโยชน์ยังจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายอีกด้วย